เราเที่ยวด้วยกัน VS เราเที่ยวกันเอง วัดความจริงใจของโรงแรมและ OTA

เราเที่ยวด้วยกัน VS เราเที่ยวกันเอง วัดความจริงใจของโรงแรมและ OTA

หลังรัฐบาลดำเนินโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” สนับสนุนค่าโรงแรม 40% สูงสุด 3,000 บาทต่อห้องต่อคืน พร้อมส่วนลดค่าอาหาร ค่าเข้าสถานที่ท่องเที่ยว และสนับสนุนค่าเดินทางโดยเครื่องบิน ก็มีประชาชนให้ความสนใจล้นหลาม

โดยพบว่ามีผู้ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ เราเที่ยวด้วยกัน.com กว่า 4 ล้านคน ถึงกระนั้นแตกต่างจากโครงการ “ชิมช้อปใช้” ตรงที่แม้จะเปิดระบบให้ลงทะเบียนไม่จำกัด แต่ก็ต้องไปตบตีแย่งสิทธิที่พัก ที่มีอยู่เพียง 5 ล้านสิทธิ์เท่านั้น

ไม่นับรวมคนที่เดินทางโดยเครื่องบิน สามารถลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิคืนเงินค่าตั๋วเครื่องบิน 40% สูงสุด 1,000 บาทต่อที่นั่ง หลังเช็กเอาต์จากที่พักแล้ว ซึ่งก็มีจำนวนจำกัดเพียงแค่ 2 ล้านสิทธิ์เท่านั้น

แม้รัฐบาลจะให้ประชาชนใช้สิทธิที่พักได้สูงสุด 5 ห้องหรือ 5 คืนต่อคน โดยจะเปิดจองห้องพักวันสุดท้าย 28 ตุลาคม 2563 แต่ถ้ามีประชาชนออกมาใช้สิทธิอย่างล้นหลาม สิทธิที่พักอาจเต็มจำนวน 5 ล้านสิทธิก่อนกำหนดก็ได้

หลังจากเปิดระบบให้จองห้องพักของโครงการไปเมื่อเวลา 6 โมงเช้า ของวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 พบว่ามีประชาชนให้ความสนใจจองห้องพักอย่างล้นหลาม จนถึงขณะนี้มีผู้ใช้สิทธิห้องพักกว่า 82,000 สิทธิ จากจำนวนทั้งหมด 5 ล้านสิทธิ

แต่ก็พบว่าปฏิกิริยาในโลกโซเชียล ต่างวิจารณ์กันว่า บางโรงแรมที่เข้าร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกัน มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นจากเดิมอย่างน่าเกลียด หักส่วนลดแล้วเท่ากับราคาปกติที่เคยขายให้ลูกค้า เท่ากับกินส่วนต่าง 40% จากรัฐบาลไปฟรีๆ

ส่วนผู้ประกอบการออนไลน์ ทราเวล เอเจนซี (Online Travel Agency หรือ OTA) เจ้าดัง (ขอสงวนชื่อ) ถูกวิจารณ์ว่าราคาห้องพักสูงกว่าราคาที่จองผ่านทางโรงแรมโดยตรง ชาวเน็ตส่วนหนึ่งจึงแนะนำให้จองตรงกับทางโรงแรมจะดีกว่า

บางคนถึงกับบอกว่า ถ้าแบบนั้นเปลี่ยนจาก “เราเที่ยวด้วยกัน” เป็น “เราเที่ยวกันเอง” ดีกว่า เพราะราคาจองเองกับที่พัก ถูกกว่าจองผ่านโครงการเราเที่ยวด้วยกัน บนแพลตฟอร์มของ OTA เจ้าดังเสียอีก

น่าเสียดายที่บ้านเรามี OTA หลายเจ้า แต่มีเพียงสองเจ้าเท่านั้นที่เข้าร่วมโครงการ รายหนึ่งเป็นแพลตฟอร์มเจ้าดังจากชาวต่างชาติ อีกรายหนึ่งมาจากยักษ์โทรคมนาคมของไทย ณ วันที่เขียนต้นฉบับยังไม่เปิดระบบ เลยบอกไม่ได้ว่าราคาเป็นอย่างไร

แต่ถึงกระนั้น เมื่อ OTA เจ้าดังติดตลาด มีลูกค้าประจำอยู่แล้ว ประกอบกับนักท่องเที่ยวเลือกที่จะค้นหาโรงแรมผ่านช่องทางนี้เป็นหลัก ก็เลยถูกวิพากษ์วิจารณ์จากคนที่จองไปแล้วในระดับหนึ่ง กลายเป็นประสบการณ์แย่ที่เข็ดขยาดไปอีกนาน



จากประสบการณ์ของผู้เขียน เมื่อก่อนเคยใช้ OTA เจ้าดังจองห้องพักมาก่อน แต่เมื่อทราบว่ามี OTA อีกเจ้าหนึ่ง (ในเครือเดียวกัน) ที่ให้จองห้องพักแบบไม่ต้องจ่ายเงินทันที แต่ให้ชำระโดยตรงกับโรงแรมเมื่อเช็กอิน เลยสนใจอย่างหลังมากกว่า

มาถึงโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ผู้เขียนจองที่พักใน "โรงแรมแห่งหนึ่ง" ที่จังหวัดเชียงใหม่ (ขอสงวนนาม) ผ่าน OTA เจ้าดัง จำนวน 2 คืน เป็นห้องซูพีเรีย ไม่รวมอาหารเช้า พบว่าหากคิดกันแบบกลมๆ ตกคืนละประมาณ 650 บาท รวมกันประมาณ 1,300 บาท

หลังระบบหักส่วนลดโครงการเราเที่ยวด้วยกัน 600 บาท จะเหลือ 700 บาทเศษ บวกภาษีและค่าธรรมเนียมเกือบ 200 บาท รวมกันแล้วจ่ายจริงประมาณ 900 บาทนิดๆ เท่านั้น ตกคืนละประมาณ 450 บาท

หลังมีกระแสชาวเน็ตวิพากษ์วิจารณ์ ผู้เขียนจึงลองไปตรวจสอบที่เฟซบุ๊กของโรงแรม พบว่าก่อนหน้าที่จะมีโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ห้องพักแบบซูพีเรีย (ไม่รวมอาหารเช้า) คิด 600 บาทต่อคืน แต่พอถึงช่วงเวลาโครงการคิด 700 บาทต่อคืน

และเมื่อดูราคาผ่านเว็บไซต์ของโรงแรม ที่คาดว่าจะใช้ระบบจองห้องพักออนไลน์จากต่างประเทศ พบว่าคิดราคาสูงกว่า 900 บาทต่อคืน จากราคาเต็ม 1,650 บาทต่อคืน

แต่เมื่อเทียบกับ OTA เจ้าดัง โดยการเปิดบราวเซอร์โหมดไม่ระบุตัวตน (Incognito, Private, InPrivate) พบว่าราคาต่ำสุดอยู่ที่ 612 บาทต่อคืน ระบุว่าเป็นห้องสุดท้าย แต่ถ้าบวกภาษีและค่าธรรมเนียม ราคาน่าจะไม่ต่างกันมากนัก

โดยสรุปถือว่า ราคาที่ได้ไม่น่าเกลียดเกินไปนัก



แต่เมื่อดูกระแสผ่านแฮชแทก #เราเที่ยวด้วยกัน พบว่าหลายคนได้ห้องพักในราคาที่ไม่น่าพึงพอใจ ทั้งถูกบางโรงแรมเอารัดเอาเปรียบ ฉวยโอกาสขึ้นราคา หรือถูก OTA เจ้าดังขึ้นราคา เสิร์ชดูแล้วไม่ได้ถูกอย่างที่หวัง

แถมบางโรงแรมบริหารจัดการแย่มาก อย่างเพจโปรโมชันตั๋วเครื่องบินที่ชื่อ “Ar-pae.com” ระบุว่า ถูกโรงแรมชื่อดังในจังหวัดเชียงราย เดิมราคาที่จองเอาไว้อยู่ที่ 7,250 บาท แต่หลังแจ้งใช้สิทธิเราเที่ยวด้วยกัน พบว่าแก้ไขราคาสูงถึง 8,818 บาท

หลังโทร. ไปสอบถามทางโรงแรม มีการปรับราคาลงให้เป็นราคาปกติ และชำระเงินเรียบร้อย ปรากฎว่าผ่านไป 1 วัน การจองถูกยกเลิกโดยโรงแรม เมื่อสอบถามยังไม่มีการแจ้งเหตุผล ทำเอาชาวเน็ตไม่พอใจอย่างมาก

ถึงขนาดมีการเปิดพื้นที่ในโซเชียลฯ ตามหาโรงแรมที่มั่นใจว่าไม่แอบขึ้นราคาในช่วงระยะเวลาโครงการ เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้ชาวเน็ตได้ร่วมกันแบ่งปัน “โรงแรมน้ำดี” ที่ไม่เอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยวในยามวิกฤต


หลายคนบอกวิธีตรวจสอบว่า โรงแรมที่เข้าร่วมโครงการแอบปรับราคาหรือไม่ ให้ตรวจสอบ 3 แหล่ง ได้แก่ เช็กจากทางโรงแรมโดยตรง, เช็กจาก OTA เจ้าดังแบบไม่ระบุตัวตน ไม่ต้องล็อกอิน และเปรียบเทียบกับเว็บอื่น เช่น Booking.com

โดยการเช็กผ่านโรงแรมจะมีอยู่ 2-3 วิธี ได้แก่ โทรศัพท์ไปถามที่โรงแรม, เข้าไปดูที่เฟซบุ๊กหรือทักแชตกับทางโรงแรม และเข้าไปดูที่เว็บไซต์ของทางโรงแรม แต่อย่างหลังถ้าโรงแรมใช้ระบบการจองจากภายนอก อาจจะพบกับราคาที่สูงเกินจริง

ที่ผ่านมาคนที่จะจองโรงแรมสักแห่ง นอกจากจะเปรียบเทียบราคาแล้ว ยังอ่านรีวิวว่าโรงแรมน่าไปหรือไม่ ซึ่งสมัยก่อนชาวออฟฟิศมักนิยมอ่านกระทู้พันทิป ห้องบลูแพลนเนต ยังไม่มีบล็อกเกอร์ท่องเที่ยว หรือเพจรีวิว บานเป็นดอกเห็ดเหมือนยุคนี้

ถามว่า แคมเปญเราเที่ยวด้วยกัน ใครได้ประโยชน์จากโครงการนี้?

ถ้าประชาชนใช้สิทธิจองกับทางโรงแรมโดยตรง โรงแรมก็ได้รับเงินสองทาง ได้แก่ จากนักท่องเที่ยวที่ชำระแล้ว 60% และจากรัฐบาล 40% หลังนักท่องเที่ยวเช็กเอาท์ไปแล้ว โดยจะโอนเงินเข้าบัญชีทุกวันพุธของสัปดาห์

ถ้าประชาชนใช้สิทธิจองผ่าน OTA โรงแรมจะต้องถูกหักค่าธรรมเนียมให้กับ OTA (ทราบจากผู้ประกอบการโฮมสเตย์รายหนึ่งบอกว่า OTA เจ้าดังคิดค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 17%) ส่วนที่เหลือถึงจะเป็นของโรงแรม


หลายคนสนับสนุนให้จองโดยตรงกับทางโรงแรม แทนการจองผ่าน OTA แต่เมื่อโรงแรมมีเป็นร้อยเป็นพันแห่ง ในจังหวัดท่องเที่ยว หรือหัวเมืองที่มีการแข่งขันด้านโรงแรมที่พักสูง หลายโรงแรมยังไม่เป็นที่รู้จักแก่คนทั้งประเทศมากนัก

เมื่อพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวนิยมค้นหาโรงแรมผ่าน OTA เพื่อเปรียบเทียบทำเลและราคาเป็นหลัก ทางโรงแรมก็จำเป็นต้องพึ่งพา OTA เหล่านี้เพื่อดึงลูกค้าเข้ามา โดยยอมเสียค่าธรรมเนียมให้กับ OTA เสมือนเฉือนเนื้อให้แบบคำโตๆ

นับจากนี้จะพิสูจน์ผู้ประกอบการโรงแรมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ว่าจะ "จริงใจ" ต่อนักท่องเที่ยวมากน้อยขนาดไหน รวมทั้ง OTA เจ้าดัง หากยังมีพฤติกรรมดังที่กล่าวมา จะถูกมองใน "ทางลบ" แค่ไหน ถึงขั้นเปลี่ยนไปจองห้องพักกับเจ้าอื่น

ที่หนักหนาสาหัสก็คือ ผลเสียไม่ได้ตกอยู่กับโรงแรม หรือตกอยู่กับ OTA เท่านั้น แต่ธุรกิจท่องเที่ยวจะถูก "เหมารวม" ทั้งหมด เพราะเมื่อประชาชนจะท่องเที่ยวในประเทศ ก็ถูกผู้ประกอบการคนไทยด้วยกันเอง และ OTA จากต่างชาติเอารัดเอาเปรียบ

ถ้าไม่มีโควิด-19 เจอแบบนี้หลายคนคงบินไปเที่ยวเมืองนอกกันหมด เพราะถูกต้มตุ๋นหรือขูดรีดด้วยกันเองนี่แหละ



 

 




ที่มา : mgronline

BY : หนูนา


สนใจแพคเกจท่องเที่ยว, ตั๋วเครื่องบินทั่วโลก หรือบัตรท่องเที่ยวต่างๆ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ 02-2945598, 092-294 5598
หรือ คลิ๊ก https://www.itravelroom.com/


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้