กระทรวงสาธารณสุข เผยผลการศึกษาประสิทธิผลของสารสกัดฟ้าทะลายโจร พบมีฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของ โควิด 19 ได้ นำร่องใช้กับผู้ป่วยระดับรุนแรงน้อย แนะไม่ควรกินหากยังไม่ป่วย
วันที่ 19 เมษายน 2563 ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงผลการวิจัยฟ้าทะลายโจร กับไวรัสโคโรนา ซึ่งเป็นความร่วมมือของกรมการแพทย์แผนไทยฯ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และองค์การเภสัชกรรม
โดย นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อและยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสได้ แต่ไม่มีฤทธิ์ในการป้องกันเซลล์จากการติดเชื้อ จึงไม่แนะนำให้รับประทานเพื่อการป้องกันโรค โดยที่ยังไม่มีอาการ เพราะไม่มีผลในการป้องกัน แต่ให้รับประทานทันทีเมื่อเริ่มมีอาการคล้ายอาการของโรคไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ มีไข้ ไอ เจ็บคอ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่ก่อโรคไข้หวัดใหญ่ หรือไวรัสก่อโรคทางเดินหายใจอื่น
โดยรับประทานครั้งละ 4 แคปซูล วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน ส่วนสารสกัดฟ้าทะลายโจร ครั้งละ 1-2 แคปซูล เพื่อให้ได้รับสารสำคัญแอนโดรกราโฟไลด์ประมาณ 20 มิลลิกรัม/ครั้ง วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร การรับประทานยาทั้งสองแบบในขนาดที่แนะนำ จะให้สารแอนโดรกราโฟไลด์ประมาณ 60 มิลลิกรัม/วัน แนะนำให้มียาฟ้าทะลายโจรเป็นยาประจำบ้าน อาจใช้ร่วมกับยาพาราเซตามอลได้ แต่หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน ให้รีบพบแพทย์
สำหรับความคืบหน้าการทดลองในคน ได้ศึกษานำร่องผลของยาสารสกัดฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโรคโควิด 19 ระดับความรุนแรงน้อย ในระหว่างเดือนเมษายน-กรกฎาคม 2563 รวมทั้งได้เตรียมความพร้อมให้เพียงพอกับความต้องการ โดยให้เกษตรกรปลูกในพื้นที่ 65 ไร่ อย่างไรก็ตามห้ามใช้ยาฟ้าทะลายโจรในหญิงตั้งครรภ์ ให้นมบุตร และผู้ป่วยที่มีอาการไข้เจ็บคอจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หากมีอาการแพ้ฟ้าทะลายโจรให้หยุดใช้ยาทันที รวมทั้งควรระวังในผู้ที่ใช้ยาวาร์ฟาริน แอสไพริน โคลพิโดเกรล ยาลดความดันโลหิต และการใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอาจทำให้แขนขาชา หรืออ่อนแรง
ด้าน ดร.สุภาพร ภูมิอมร ผู้อำนวยการสถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากการศึกษาศึกษาฤทธิ์ต้าน COVID-19 ของสมุนไพรฟ้าทะลายโจรในหลอดทดลอง โดยทำการศึกษาจากสารสกัดหยาบเทียบกับแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ที่เป็นสารสำคัญ พบว่า สามารถทำลายไวรัสโดยตรง และต้านไม่ให้ไวรัสเพิ่มจำนวนเซลล์ได้ แต่ไม่มีฤทธิ์ในการชักนำให้เซลล์หลั่งสารที่ช่วยยับยั้งไวรัส จึงไม่แนะนำให้รับประทานเพื่อการป้องกันโรค และจำเป็นต้องทำการศึกษาวิจัยในคนต่อไป
ที่มา : KAPOOK
BY : ขนุน
สนใจแพคเกจท่องเที่ยว, ตั๋วเครื่องบินทั่วโลก หรือบัตรท่องเที่ยวต่างๆ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ 02-2945598, 092-294 5598
หรือ คลิ๊ก https://www.itravelroom.com/